Loading...

บริการผู้ป่วยนอก

ประกาศเมื่อ    06 ธันวาคม 2555 เวลา 15:14:43    ยอดเข้าชม    7136  บทความโดย ก.เทคโนโลยีสารสนเทศ
บริการแบบผู้ป่วยนอก
              เป็นการให้บริการตรวจวินิจฉัย  บำบัดรักษา  ส่งเสริมป้องกันและให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชแก่ผู้ป่วย  ญาติ  ประชาชนทั่วไป  ตามมาตรฐาน HA, ISO ในระดับExcellence Center โดยพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับบริการอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ปลอดภัย ได้มาตรฐานวิชาชีพ และพึงพอใจในบริการ
ขอบเขตการให้บริการ
            ให้บริการผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชที่มารับบริการแบบผู้ป่วยนอก ในเขตตรวจราชการสาธารณสุขที่ 7  ได้แก่  ร้อยเอ็ด ขอนแก่น  มหาสารคาม  กาฬสินธุ์ และ นอกเขตฯ คือ อุดรธานี  กลุ่มโรคสำคัญที่พบมาก  5 ลำดับแรก คือ  โรคจิตเภท (Schizophrenia)  โรควิตกกังวล (Other anxiety disorder)  โรคซึมเศร้า (Depressive episode )  ปัญหาสุขภาพจิตจากสุรา (Mental and behavioral disorders due to use of alcohol)  และโรคอารมณ์แปรปรวน (Bipolar affective disorder)
ระบบบริการสำคัญ
              บริการคัดแยกบริการ   บริการคัดแยกบริการและแนะนำขั้นตอนบริการ   มีการคัดกรองและประเมินเพื่อคัดแยกบริการ ณ บริเวณด้านหน้าอาคารผู้ป่วยนอก ให้คำแนะนำเพื่อเข้าสู่การรับบริการทางจิตเวช รวมถึงสอบถามภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ บริการการคัดกรองและประเมินผู้ป่วย โดยการสัมภาษณ์และคัดกรองความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ประวัติการแพ้ยา ประวัติการใช้สารเสพติด โรคทางกายและการใช้ยาโรคทางกาย รวมทั้งการวัดสัญญาณชีพ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงผู้ป่วยทุกราย และการบันทึกอาการสำคัญ เพื่อรวบรวมและสื่อสารข้อมูลในการดูแลรักษาผู้ป่วย
บริการก่อนและหลังพบแพทย์
               บริการก่อนพบแพทย์ โดยการจัดให้ผู้รับบริการได้รับบริการการเข้าตรวจวินิจฉัยบำบัดรักษากับแพทย์ โดยใช้ระบบแพทย์เจ้าของไข้ตามลำดับคิว มีการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารและตัวผู้รับบริการให้ตรงกันก่อนส่งเข้าพบแพทย์  และให้บริการผู้ป่วยทางด่วน โดยมีเกณฑ์ผู้ป่วยทางด่วน ถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์เรื่องการจัดลำดับคิว (คิวผู้ป่วยทั่วไปและคิวผู้ป่วยทางด่วน) ให้ผู้รับบริการทราบทุกวันในช่วง 8.30- 8.45 น.และหากสงสัยให้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบได้ตลอด ซึ่งผู้รับบริการยอมรับที่จะให้คิวผู้ป่วยทางด่วนแทรกคิวเข้าพบแพทย์ และมีความพึงพอใจ 
              บริการหลังพบแพทย์ ให้บริการผู้รับบริการตามแนวทางการรักษาของแพทย์และบริหารจัดการผู้รับบริการเข้าสู่จุดบริการต่างๆ ดังนี้ งานสุขภาพจิตศึกษาผู้ป่วยใหม่,  CPG Suicide, CPG Schizophrenia,  CPG Depression, Alcohol, รับไว้รักษา, ระบบส่งต่อ Refer, ระบบนัด รวมทั้งการแก้ไขปัญหาในการให้บริการตรวจรักษา การใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตร สังคมสงเคราะห์  การประสานการดูแลไปยังทีมสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการตรวจพิเศษ/บำบัดรักษาตามสภาพปัญหาและแนวทางการดูแลผู้ป่วย พร้อมกับลงบันทึกในใบตรวจรักษา
               บริการผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉิน  กรณีที่ญาติ/รถ Refer /ตำรวจ/พลเมืองดีนำส่งผู้ป่วย  หากประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อตนเอง/ผู้อื่น /ทรัพย์สิน เช่น ก่อนมามีอาการคลุ้มคลั่ง  ก้าวร้าว  ทำร้ายตนเอง/ผู้อื่น  ขัดขืน และไม่ร่วมมือ   ประเมินอาการทางจิตและระดับความรุนแรง  โดยใช้แบบประเมิน HoNOS   หากความรุนแรงอยู่ในระดับ  3-4  คะแนน จัดให้เป็นคิวจิตเวชฉุกเฉิน  เพื่อให้ได้รับการตรวจ วินิจฉัย บำบัดรักษา ภายใน  28 นาที
            บริการรับยาเดิม กลุ่มผู้ป่วยที่อาการทุเลาและไม่ได้รับยาความเสี่ยงสูง  แพทย์จะส่งต่อรับยาเดิมกับพยาบาล  เป็นระบบ One Stop Service เพื่อการลดขั้นตอนการบริการและการ LEANระบบการทำงาน และ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้น เมื่อครบกำหนดพบแพทย์ตามคำสั่งแพทย์ จะส่งผู้รับบริการพบแพทย์ หากมีอาการกำเริบ/ผิดปกติจะส่งผู้ป่วยพบแพทย์ก่อนครบกำหนด   ในการบริการจะมีการคัดกรองและประเมิน อาการ  อาการข้างเคียงจากการรักษาด้วยยา  ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ประวัติแพ้ยา ประวัติโรคทางกายและยารักษาโรคทางกาย จ่ายยาตามแผนการรักษาเดิมของแพทย์ และลงบันทึกในใบตรวจรักษา

แหล่งข้อมูล : Service profile กลุ่มงานผู้ป่วยนอก ก.พ. 57